ย่านนมควาย
Uvaria grandiflora Roxb.

ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE

ชื่อสามัญ : –

ข้อมูลพรรณไม้

ชื่อพื้นเมือง 

กล้วยมดสัง กล้วยมุดสัง ย่านนมควาย (ตรัง), กล้วยมูซัง (สงขลา), กล้วยหมูสัง (ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ 

Uvaria grandiflora Roxb.

ชื่อวงศ์ 

ANNONACEAE

ชื่อสามัญ


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้เถาเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เหนียว แยกจากโคนต้นได้หลายเถา เลื้อยพาดตามพุ่มไม้ไปได้ไกลถึง 30 ม. กิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 5-10 ซม. ยาว 12-25 ซม. ปลายแหลม โคนมนเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน มีขนประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านล่างสีเขียวนวลมีขนสั้นนุ่มทั่วไป ก้านใบยาว 3-8 มม. ดอกออกเดี่ยวๆ ที่ปลายกิ่งและตามกิ่ง ตรงข้ามหรือเยื้องกับใบเล็กน้อย เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-11 ซม. กลิ่นหอมอ่อน มีน้ำหวานจำนวนมากรอบฐานดอก กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอมเหลือง รูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 ซม. กลีบค่อนข้างบอบบาง ผิวด้านนอกมีขนสั้นประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ สีแดงเลือดนก โคนกลีบสีเหลืองอ่อน รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาว 2.5-4 ซม. ปลายมน กลีบหนา เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม รังไข่ยาวประมาณ 7 มม. มีขนสั้น ยอดเกสรเพศเมียแผ่ออกคล้ายรูปแตร มีเมือกเหนียวสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ผลเป็นผลกลุ่ม มีจำนวนมาก อยู่บนแกนตุ้มกลม ก้านช่อผลยาว 4-6 ซม. แต่ละผลรูปทรงกระบอกสั้นๆ ยาว 3-6 ซม. ปลายมน คอดเว้าเล็กน้อยบางตอน ตามผิวมีตุ่มเล็กๆ กระจายและมีขนประปราย ก้านผลยาว 1-4 ซม. มีเมล็ดมาก

ประโยชน์

ผลสุกมีกลิ่นหอม กินได้ รสหวานอมเปรี้ยว ชาวมลายูใช้ใบต้มกับข้าวกินบรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ และนำใบและรากมาต้มเป็นยาบำบัดอาการปวดท้อง เถานำมาใช้แทนหวาย

ข้อมูลเพิ่มเติม

ถิ่นกำเนิด


การกระจายพันธุ์

จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย

ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้

สภาพนิเวศน์

ขึ้นตามชายป่าดิบชื้นและป่าโปร่งที่ชุ่มชื้น บริเวณที่โล่งริมลำธาร

เวลาออกดอก

เวลาออกผล

การขยายพันธุ์


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.