กันเกรา
Fagraea fragrans Roxb.

ชื่อวงศ์ : LOGANIACEAE

ชื่อสามัญ : –

ข้อมูลพรรณไม้

ชื่อพื้นเมือง 

ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้), ตาเตรา (เขมร-ภาคตะวันออก), ตะมะซู ตำมูซู (มลายู-ใต้), มันปลา (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กันเกรา (ภาคกลาง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ 

Fagraea fragrans Roxb.

ชื่อวงศ์ 

LOGANIACEAE

ชื่อสามัญ


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 20-30 ม. ลำต้นแตกกิ่งต่ำ ปลายกิ่งลู่ลงสู่พื้นดิน เรือนยอดแน่นเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกนอกหยาบ หนา สีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกในสีน้ำตาล กระพี้สีเหลือง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2-4 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายแหลมยาว โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ก้านใบยาว 0.6-1.8 ซม. มีหูใบระหว่างก้านใบคล้ายรูปถ้วยเล็กๆ ช่อดอกออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 5-10 ซม. แยกแขนงสั้นๆ มีดอกจำนวนมาก เมื่อบานเต็มที่กว้าง 1.6-2.2 ซม. กลิ่นหอมเย็น ดอกแรกบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงเหลืองอมส้มเมื่อร่วงหล่น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูประฆัง ยาว 2-3 มม. กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปแจกัน ยาว 1.3-2.2 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาว 1.8-2.3 ซม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก รังไข่มี 2 ช่อง ยอดเกสรเพศเมียบวมพองคล้ายหมวกเห็ด ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ผลมีเนื้อ กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 มม. มักมีติ่งแหลมสั้นๆ ติดอยู่ที่ปลายสีส้มอมเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อผลแก่ มีรสขม ผลแก่ไม่แตก มีเมล็ดเล็กมากจำนวนมาก

ประโยชน์

ปลูกเป็นไม้ให้ร่มตามถนนและสวนสาธารณะทั่วไปในมาเลเซียและสิงคโปร์ เนื้อไม้ละเอียดสีเหลืองอ่อน แข็งทนทานมากทั้งในพื้นดินและในน้ำ ทนปลวก ตกแต่งง่าย ชักเงาได้ดี นิยมใช้ทำเสาเรือน เสาสะพาน กระดานปูพื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง เครื่องเรือน เครื่องกลึง กระดูกงูเรือ โครงเรือ เสากระโดงเรือ หมอนรางรถไฟ ชาวจีนตอนใต้นิยมใช้ทำโลงจำปา เนื้อไม้และเปลือกใช้เป็นสมุนไพร

ข้อมูลเพิ่มเติม

ถิ่นกำเนิด


การกระจายพันธุ์

หมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน อินเดียตอนเหนือ พม่าตอนใต้ เวียดนาม มาเลเซีย

การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย

น่าน, ลำปาง, นครพนม, สุรินทร์, อุบลราชธานี, ตราด, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, สตูล, นราธิวาส

สภาพนิเวศน์

พื้นที่ราบต่ำโล่ง บนดินร่วนปนทรายที่ชื้นแฉะ หรือขึ้นใกล้น้ำในป่าเบญจพรรณชื้นทั่วไป

เวลาออกดอก


เวลาออกผล


การขยายพันธุ์