ย่านนมควาย
Uvaria grandiflora Roxb.
ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE
ชื่อสามัญ : –
ข้อมูลพรรณไม้
ชื่อพื้นเมือง
กล้วยมดสัง กล้วยมุดสัง ย่านนมควาย (ตรัง), กล้วยมูซัง (สงขลา), กล้วยหมูสัง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Uvaria grandiflora Roxb.
ชื่อวงศ์
ANNONACEAE
ชื่อสามัญ
–
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเนื้อแข็ง ขนาดใหญ่ เหนียว แยกจากโคนต้นได้หลายเถา เลื้อยพาดตามพุ่มไม้ไปได้ไกลถึง 30 ม. กิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่กลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 5-10 ซม. ยาว 12-25 ซม. ปลายแหลม โคนมนเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน มีขนประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านล่างสีเขียวนวลมีขนสั้นนุ่มทั่วไป ก้านใบยาว 3-8 มม. ดอกออกเดี่ยวๆ ที่ปลายกิ่งและตามกิ่ง ตรงข้ามหรือเยื้องกับใบเล็กน้อย เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-11 ซม. กลิ่นหอมอ่อน มีน้ำหวานจำนวนมากรอบฐานดอก กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอมเหลือง รูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 ซม. กลีบค่อนข้างบอบบาง ผิวด้านนอกมีขนสั้นประปราย ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ สีแดงเลือดนก โคนกลีบสีเหลืองอ่อน รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ยาว 2.5-4 ซม. ปลายมน กลีบหนา เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม รังไข่ยาวประมาณ 7 มม. มีขนสั้น ยอดเกสรเพศเมียแผ่ออกคล้ายรูปแตร มีเมือกเหนียวสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ผลเป็นผลกลุ่ม มีจำนวนมาก อยู่บนแกนตุ้มกลม ก้านช่อผลยาว 4-6 ซม. แต่ละผลรูปทรงกระบอกสั้นๆ ยาว 3-6 ซม. ปลายมน คอดเว้าเล็กน้อยบางตอน ตามผิวมีตุ่มเล็กๆ กระจายและมีขนประปราย ก้านผลยาว 1-4 ซม. มีเมล็ดมาก
ประโยชน์
ผลสุกมีกลิ่นหอม กินได้ รสหวานอมเปรี้ยว ชาวมลายูใช้ใบต้มกับข้าวกินบรรเทาอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ และนำใบและรากมาต้มเป็นยาบำบัดอาการปวดท้อง เถานำมาใช้แทนหวาย
ข้อมูลเพิ่มเติม
ถิ่นกำเนิด
–
การกระจายพันธุ์
จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย
ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้
สภาพนิเวศน์
ขึ้นตามชายป่าดิบชื้นและป่าโปร่งที่ชุ่มชื้น บริเวณที่โล่งริมลำธาร
เวลาออกดอก
–
เวลาออกผล
–
การขยายพันธุ์
–
อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.