กำจาย
Caesalpinia digyna Rottl.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่อสามัญ : –
ข้อมูลพรรณไม้
ชื่อพื้นเมือง
กำจาย กระจาย ขี้คาก (แพร่), ขี้แรด (ภาคกลาง), งาย (ปัตตานี), ตาฉู่แม สื่อกีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะหนามจาย มะนามจาย (ตาก), มะเบ๋น(ไทยใหญ่-ภาคเหนือ), หนามแดง (ตราด), หนามหัน (จันทบุรี), ฮาย ฮายปูน (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Caesalpinia digyna Rottl.
ชื่อวงศ์
LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่อสามัญ
–
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มเลื้อย ลำต้นและก้านใบมีหนามแหลมแข็งโค้งลงคล้ายหนามกุหลาบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ก้านใบประกอบยาว 15-20 ซม. หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ 2 มม. ร่วงง่าย ใบย่อย 8-12 คู่ เรียงตรงข้ามกัน รูปขอบขนาน กว้าง 3-4 มม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ปลายมน โคนเบี้ยว ก้านใบย่อยสั้นมาก ใบอ่อนมีขนนุ่มแต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว 15-20 ซม. ก้านดอกยาว 1.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แต่ละกลีบขนาดไม่เท่ากัน กลีบนอกใหญ่กว่ากลีบอื่น โคนติดกันเป็นรูปถ้วยตื้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ขนาดไม่เท่ากัน แต่ละกลีบค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้า เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 มม. เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูมีขนเป็นปุย รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีออวุล 3-4 เม็ด ฝักไม่แตก รูปขอบขนาน ตรงกลางป่องเล็กน้อย กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 3.5-5 ซม. ก้านสั้น มี 2-3 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลคล้ำค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 9 มม. ยาวประมาณ 1.2 ซม.
ประโยชน์
ฝักให้น้ำฝาดใช้ย้อมผ้า หนัง แห อวน และชำระล้างบาดแผล ห้ามโลหิต สมานแผล ปรุงเป็นยากินแก้ท้องร่วง รากใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้
ข้อมูลเพิ่มเติม
ถิ่นกำเนิด
–
การกระจายพันธุ์
จีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย
การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย
เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, แพร่, เลย, ขอนแก่น, นครราชสีมา, กรุงเทพมหานคร, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, จันทบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ปัตตานี
สภาพนิเวศน์
ขึ้นในป่าเบญจพรรณและตามชายป่าทั่วไป
เวลาออกดอก
เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม
เวลาออกผล
เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม
การขยายพันธุ์
–